เข้าสู่ระบบ
วันนี้ | 26 | |
เมื่อวานนี้ | 65 | |
สัปดาห์นี้ | 145 | |
สัปดาห์ที่แล้ว | 435 | |
เดือนนี้ | 960 | |
เดือนที่แล้ว | 2148 | |
ทั้งหมด | 164982 |
กลุ่มคณะอาจารย์จากหลากสถาบัน พร้อม จนท.ปลอดภัยวิชาชีพ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านประกาศของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) หลังมีผลทำให้ผู้จบ ปวส.สอบได้เท่า ป.ตรี ทำให้ถูกแย่งงาน
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักความปลอดภัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน ได้มีกลุ่มคณาจารย์ผู้สอนในสาขาความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย(จป.) วิชาชีพและนักศึกษาจาก 27 สถาบัน อาทิ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร กว่า 300 คน นำโดยผศ.ดร.ปวีณา มีประดิษฐ์ หัวหน้าภาควิชาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา รศ.วิชัย พฤกธาราธิกุล อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มายื่นหนังสือคัดค้าน ประกาศของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เรื่องหลักเกณฑ์การทดสอบและออกหนังสือรับรองเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน เป็น จป.วิชาชีพเชี่ยวชาญประเภทกิจการก่อสร้าง และเรียกร้องให้ยกเลิกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ฉบับดังกล่าว ใน 15 วัน
โดย มองว่าขัดกับกฏหมาย ที่กำหนดให้ผู้ที่สามารถเข้าสอบ จป.วิชาชีพ ต้องจบปริญญาตรีเท่านั้น แต่ประกาศฉบับนี้เปิดให้ผู้จบประกาศวิชาชีพชั้นสูง ปวส. สามารถเข้าสอบได้ มิเช่นนั้นจะยกระดับการเรียกร้อง โดยการไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ว่าประกาศฉบับนี้ขัดกฏหมาย ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งมองว่าอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำเกินอำนาจหน้าที่ และมีผลกระทบต่อวิชาชีพของ จป.วิชาชีพ ที่จะถูกแย่งงาน โดยมีนายดำรงค์ เปรมสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มารับหนังสือ
ต่อมา นายพานิช จิตต์แจ้ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เดินทางมาชี้แจงกับคณาจารย์และกลุ่มตัวแทนฯว่า ตนเองได้ทำงานอยู่ในแวดวงความปลอดภัยมาโดยตลอด มีวัตถุประสงค์ในการลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของระบบจป. และยืนยันว่าประกาศฉบับดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย เป็นเพียงประกาศของกรมในการออกโครงการที่มีหลักสูตรรองรับ อีกทั้งปัจจุบันมีการประสบอันตรายบ่อยครั้งเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง โดยผู้ประกอบการยังได้ร้องเรียนว่า ไม่มีผู้มาสมัครงานในตำแหน่ง จป.ของภาคการก่อสร้าง จึงได้ออกประกาศกรมฉบับนี้มาแก้ปัญหา พร้อมรับข้อเรียกร้องไปพิจารณาปรับปรุงประกาศกรมฉบับดังกล่าวฯให้ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามในที่ประชุม คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เสนอให้ยกเลิกประกาศ หรือ ปรับคำในประกาศ โดยเฉพาะที่ระบุว่า จป.วิชาชีพเชี่ยวชาญประเภทกิจการก่อสร้าง เพราะการใช่คำว่าเชี่ยวชาญแสดงว่าต้องมีความสามารถและประสบการณ์อย่างมาก แต่เปิดโอกาสให้ผู้จบ ปวส.เท่านั้นมาสอบได้ ควรปรับเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อความเหมาะสม รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลักสูตรได้มาตรฐานหรือไม่ โดยคณาจารย์และ จป.วิชาชีพ พร้อมจะร่วมเป็นทีมงานปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมต่อไป
ข่าว : เดลินิวส์ ภาพ : Kittipak Jongaksorn